เรื่องของปลั๊กไฟฟ้าและเต้าเสียบปลั๊กไฟฟ้า เป็นเรื่องที่หลายๆคนถามอยู่บ่อยๆว่ามาตรฐานของปลั๊กไฟฟ้าเขากำหนดให้ต่อสายแบบไหน เนื่องจากมีบางคนสังเกตเห็นว่ารูของเต้าเสียบปลั๊กไฟฟ้ามันมีลักษณะเฉพาะของแต่ละรู แล้วเขาทำอย่างนั้นเพื่ออะไร บางคนคงเคยพบกับปัญหาไฟรั่วจากคอมพิวเตอร์เมื่อเราเอามือไปจับตัวถังหรือส่วนที่เป็นโลหะจะรู้สึกตกใจมากเมื่อโดนไฟช๊อต สิ่งเหล่านี้ปัญหาหลักๆมาจากการต่อสายไฟที่เต้าเสียบผิดขั้วหรือเสียบปลั๊กกลับด้าน อันดับแรกเรามาทำความรู้จักกับเต้าเสียบปลั๊กไฟฟ้ากันก่อนว่าปลั๊กไฟฟ้ามาตรฐานมันมีหน้าตาอย่างไรกันชัดๆ    จากรูปจะเห็นว่ามีรูที่เราใช้เสียบปลั๊กทั้งหมด 3 รู ต่อชุดเสียบปลั๊ก 1 ปลั๊ก โดยเป็นรูที่เราใช้เสียบปลั๊กตาม ปกติ 2 รูก็คือด้านที่เป็นรูแบนในรูปซ้าย หรือรูกลมที่มีหัวตัดแบนในรูปขวา 2 รูนี้ทำหน้าที่ให้ไฟฟ้าไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ครบวงจร ส่วนอีกรูกลมหัวตัดเป็นรูของสายดิน ตามมาตรฐานของปลั๊กไฟฟ้าจะกำหนดให้แต่ละรูของเต้าเสียบมีชื่อเรียกและมีหน้าที่เฉพาะของมันโดยเฉพาะ คือ

1. รูแคบ (L : Line) คือรูเสียบที่แคบกว่า(ลูกศรชี้อยู่)

2. รูกว้าง (N : Neutral) คือรูเสียบที่กว้างกว่ารู L หัวตัดแบนจะกว้างกว่า

3. รูกลมหัวตัด (GND : Ground) คือรูเสียบด้านข้างสำหรับสายดิน

    ไม่ใช่เฉพาะเต้าเสียบแบบ 3 ตาเท่านั้นนะครับถึงแม้เป็นแบบ 2 รูไม่มีสายดินก็ต้องเป็นแบบนี้เหมือนกัน ทีนี้เรามาดูหน้าที่ของเต้าเสียบปลั๊กไฟแต่ละช่อง L : Line – เป็นรูที่ต่อกับสายไฟฟ้าที่มีไฟฟ้าวิ่งมาจากโรงงานผลิตไฟฟ้า สายนี้จะมีศักย์ไฟฟ้าสูงก็คือ 220 โวลต์สำหรับไฟฟ้าในบ้านทั่วไป เมื่อเช็คด้วยไขควงวัดไฟจะมีแสงสว่างติดแสดงว่าเป็นสายที่มีไฟฟ้าคือสาย Line หรือ Hot ถ้าเอามือจับสายนี้ไฟฟ้าก็จะไหลเข้ามาช๊อตเราได้ และเช่นกันหากสายไฟเส้นนี้ไปแตะกับตัวถังเครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือช๊อตคนที่มาสัมผัสได้ N : Neutral – เป็นรูที่ต่อกับสายไฟฟ้าที่วิ่งกลับไปยังโรงงานผลิตไฟฟ้าหรือหม้อแปลงของการไฟฟ้าที่เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้เรา สายไฟเส้นนี้จะมีศักย์ต่ำเมื่อเช็คด้วยไขควงวัดไฟฟ้าจะไม่มีไฟติดสว่างแสดงว่าเป็นสาย N GND : Ground – เป็นรูที่ต่อกับสายดินของอาคาร โดยสายดินจะต่ิดเข้ากับทุ่นโลหะที่ตอกลงไปในดินใต้อาคารตามมาตรฐานที่การไฟฟ้ากำหนด   จากรูปจะเห็นว่าบางยี่ห้อเขาจะพิมพ์ตัวอักษร L กับ N ไว้ที่หน้ากากด้านหน้าเลยว่ารูไหนต้องต่อกับสายอะไร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการติดตั้งหรือต่อสายไฟเข้ากับเต้าเสียบให้ถูกขั้วมันมีความสำคัญมาก หากต่อสายไฟที่เต้าเสียบไว้ผิดขั้วต่อให้ปลั๊กที่นำมาเสียบมีมาตรฐานก็ทำให้ไฟฟ้าวิ่งเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าผิดขั้วไปด้วยนั่นเอง เนื่องจากมีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภทที่มีความจำเป็นต้องต่อสายไฟเข้าเครื่องให้ถูกขั้วจะจะปลอดภัยและไม่มีผลต่อการใช้งานของเครื่อง ซึ่งก็ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้กะแสไฟฟ้ามากๆหรือกินกำลังไฟฟ้าสูง และเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแหล่งจ่ายไฟเป็นแบบสวิตซ์โหมดหรือ Switching Power Supply ลักษณะเดียวกับคอมพิวเตอร์เนื่องจากการจ่ายไฟฟ้าเข้าสลับขั้วจะให้ผลการเหนี่ยวนำที่ต่างกัน ในคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ต่อสายดินถ้าเราเสียบปลั๊กผิดขั้วจะเห็นว่ามีไฟช๊อตถ้าเอามือไปจับตัวถัง ถ้าเอาไขควงวัดไฟเช็คหลอดก็จะติดสว่าง ถ้าลองดึงปลั๊กออกแล้วสลับขั้วเสียบใหม่จะพบว่าไฟไม่ช๊อตเราแล้ว หรืออย่างน้อยมันก็ช๊อตน้อยลง สาเหตุมาจากเต้าเสียบต่อไฟไว้สลับขั้วหรือเราหักขาสายดินออกทำให้เสียบกลับขั้วได้แล้วเกิดปัญหาขึ้น อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าควรต่อสายดินนะครับเพื่อความปลอดภัย การตรวจเช็คขั้วของสายไฟฟ้าหรือขั้วของเต้าเสียบปลั๊กไฟฟ้าด้วยไขควงวัดไฟที่ถูกต้องไฟต้องติดแค่ขั้ว L นะครับขั้ว N ต้องไม่ติด ถ้าติดทั้งสองขั้วหรือไม่ติดทั้งสองขั้วก็ถือว่าใช้ไม่ได้  ทีนี้เรามาดูกันว่าตอนติดตั้งหรือต่อสายไฟเข้ากับเต้าเสียบช่างเขาต้องดูอะไรบ้างจึงจะต่อได้ถูกตามมาตรฐาน จากรูปจะเห็นว่าเมื่อเราพลิกดูด้านหลังเต้าเสียบปลั๊กไฟฟ้าที่มาตรฐานเขาจะระบุไว้อย่างชัดเจนแทบทุกยี่ห้อว่าให้ต่อสาย L เข้าด้านไหน และสาย N เข้าด้านไหน สายดิน GND เข้าช่องไหน ดังนั้นถ้าช่างเข้าใจถูกต้องและเอาใจใส่หน่อยก็คงสามารถต่อได้ถูกต้อง แต่ก็มีช่างจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดและยืนยันว่าไฟฟ้ากระแสสลับต่อด้านไหนมันก็เหมือนกันและสามารถใช้งานได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าก็เปิดติดได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ให้พลิกด้านหลังของเต้าเสียบให้เขาดูและบังคับให้เขาต่อตามมาตรฐานก็แล้วกัน เพราะถ้ามันไม่ต่างกันหรือไม่มีความสำคัญจริงๆเขาจะกำหนดหรือผลิตมาให้มันต่างกันให้ยุ่งยากไปทำไม ผลิตให้มันเหมือนกันไปเลยจะไม่ง่ายกว่าหรือ

7 เทคนิคการถ่ายภาพ Wildlife ที่มือใหม่ควรรู้
SMART CLASSROOM: ห้องเรียนในยุค 4.0 ตอนที่ 1

Leave a Comment