ลูกจ้างต้องรู้ ! พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ ของประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ดีขึ้นยังไง พร้อมวิธีคำนวณชัด ๆ  

เงินทดแทน

          ในชีวิตการทำงานเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะมีโอกาสเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ จนจำเป็นต้องหยุดงาน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในเรื่องต่าง ๆ และล่าสุดได้มีการประกาศ พ.ร.บ.เงินทดแทน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2561 ซึ่งทำการปรับปรุงความคุ้มครองให้ดีขึ้น (อ่านข่าว – ลูกจ้างรัฐ-เอกชนเฮ ! ได้เงินทดแทนเพิ่มเป็น 70% ตั้งแต่วันแรกที่หยุดงาน) วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงมีรายละเอียดของ พ.ร.บ.เงินทดแทน 2561 มาฝากกันว่าปรับแล้ว ดีขึ้นยังไงบ้าง  

กองทุนเงินทดแทน คืออะไร ? 

          กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้การดูแลของประกันสังคมเพื่อต้องการให้ลูกจ้างทั้งรัฐและเอกชน มีสิทธิได้รับเงินทดแทนและสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้หยุดงานจากการทำงาน เช่น เจ็บป่วย ประสบอันตราย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย โดยคุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน ซึ่งเงินในส่วนนี้จะมาจากนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุก ๆ ปี  

พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ ปรับปรุงอะไรบ้าง 
         พ.ร.บ.เงินทดแทน ปี 2561 ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์หลายอย่างให้ดีและครอบคลุมมากขึ้น ดังนี้ 
1. กรณีเจ็บป่วย จากการทำงานจนไม่สามารถทำงานได้


เงินทดแทน
 

          • ได้รับเงินชดเชยหยุดงานเพิ่มเป็น 70% จากเดิม 60% ของค่าจ้างรายเดือน (ฐานค่าจ้างสูงสุด 20,000 บาท) โดยจะต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุให้หยุดพักรักษาตัว และลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวจริงตามใบรับรองแพทย์   

          • ได้รับเงินชดเชยตั้งแต่วันแรกที่หยุดงาน จากเดิมจ่ายเฉพาะกรณีหยุดงาน 3 วันติดต่อกัน โดยจะได้รับเงินต่อเนื่องไม่เกิน 1 ปี  
 
          • ลูกจ้างราชการ ได้รับสิทธิค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน จนสิ้นสุดการรักษาไม่ว่าค่ารักษาจะเป็นเท่าไร  
 
          • ลูกจ้างส่วนเอกชน ได้รับสิทธิเพิ่มค่ารักษาพยาบาลจนการรักษาสิ้นสุด จากเดิมตั้งเพดานที่ 2 ล้านบาท   
 
          • กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน นายจ้างจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

          • หากลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังประสบเหตุ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
 

          วิธีคำนวณเงินทดแทน กรณีเจ็บป่วย  
 
          ตัวอย่างเช่น  

          – ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท โดยใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 2 เดือน  
          วิธีคำนวณ คือ 20,000 x 70% = 14,000 บาท 
          ลูกจ้างหยุดงาน 2 เดือน = 14,000 x 2 
          เงินทดแทนที่ได้รับ =  28,000 บาท  

          – ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000  บาท โดยใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 10 วัน  
          วิธีคำนวณ คือ 10,000 x 70% = 7,000  บาท 
          ลูกจ้างหยุดงาน 10 วัน = 7,000 / (30/10)  
          เงินทดแทนที่ได้รับ =  2,333.33  บาท   
 

2. กรณีสูญเสียอวัยวะบางส่วน 
 
เงินทดแทน

          • ได้รับเงินชดเชยหยุดงานเพิ่มเป็น 70% ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10  ปี 
           สำหรับการประเมินค่าทดแทนการสูญเสียอวัยวะ ลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่ลูกจ้างประสบอันตราย หลังจากนั้น สามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการสูญเสียอวัยวะได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือลูกจ้างทำงานอยู่

          วิธีคำนวณเงินทดแทน กรณีสูญเสียอวัยวะบางส่วน 

          เช่น ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000  บาท โดยแขนขาดระดับข้อศอก ซึ่งจะได้รับเงินทดแทนไม่เกิน 10 ปี หรือ 120 เดือน 
          วิธีคำนวณ คือ 20,000 x 70% = 14,000 บาท 
          ได้เงินทดแทน 120 เดือน = 14,000 x 120  

          เงินทดแทนรวมที่ได้รับ = 1.68 ล้านบาท  

          ทั้งนี้ หากลูกจ้างเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับค่าทดแทนครบตามระยะเวลาที่ได้รับสิทธิ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทดแทนนั้นให้แก่ทายาท หรือผู้มีสิทธิ จนครบกำหนดระยะเวลา แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี เช่น ลูกจ้างต้องได้รับเงินทดแทนเป็นเวลา 10 ปี แต่ได้รับเงินเพียง 7 ปี ก็เสียชีวิต เงินทดแทนส่วนที่เหลืออีก 3 ปี นายจ้างจะต้องจ่ายให้ทายาท หรือผู้มีสิทธิต่อไป
 

3. กรณีทุพพลภาพ 

เงินทดแทน
 
          • ได้รับเงินชดเชยหยุดงานเพิ่มเป็น 70% ของค่าจ้างรายเดือน  

          • เพิ่มระยะเวลาจ่ายเงินทดแทน เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี จากเดิมไม่เกิน 15 ปี  
          ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การเป็นผู้ทุพพลภาพ หมายความว่า ลูกจ้างสูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่สามารถทำงานตามปกติได้ สามารถประเมินการสูญเสียอวัยวะได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือลูกจ้างทำงานอยู่
          วิธีคำนวณเงินทดแทน กรณีทุพพลภาพ 

          เช่น ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท โดยลูกจ้างสูญเสียอวัยวะจนเข้าหลักเกณฑ์ทุพพลภาพ  
          ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทน 20,000 x 70% = 14,000 บาท/เดือน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือ 180 เดือน  

          นั่นคือ ไม่น้อยกว่า 14,000 x 180 = 2.52 ล้านบาท  
 

          อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับค่าทดแทนครบตามระยะเวลาที่ได้รับสิทธิ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทดแทนนั้นให้แก่ทายาท หรือผู้มีสิทธิ จนครบกำหนดระยะเวลา แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี   
 4. กรณีเสียชีวิตหรือสูญหาย 


เงินทดแทน
 
          • เพิ่มระยะเวลาจ่ายเงินทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ให้ผู้มีสิทธิเป็น 10 ปี จากเดิม 8 ปี

          • กรณีเสียชีวิต นายจ้างต้องจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกค้าตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง 
          สำหรับกรณีสูญหาย หมายความว่า การที่หายไปในระหว่างทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุควรเชื่อว่าลูกจ้างเสียชีวิต เพราะประสบเหตุอันตราย รวมถึงการที่ลูกจ้างหายไประหว่างเดินทาง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันนับแต่วันเกิดเหตุ 


          ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตหรือสูญหาย ได้แก่ 

          1. มารดา 
          2. บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย 
          3. สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย 
          4. บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้มีสิทธิรับเงินทดแทนจนกว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี 
          5. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หากอยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้มีสิทธิรับเงินทดแทนจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี     
          6. บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ที่ทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย   
          7. บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือวันที่เกิดเหตุสูญหาย มีสิทธิรับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด 

          8. หากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นผู้มีสิทธิ แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย 


          วิธีคำนวณเงินทดแทน กรณีเสียชีวิตหรือสูญหาย 

          เช่น ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท แล้วเกิดเสียชีวิตจากการทำงาน  
          ดังนั้น ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินทดแทน 20,000 x 70% = 14,000 บาท 

          เป็นระยะเวลา 10 ปี นั่นคือ 14,000 x 120 = 1.68 ล้านบาท  
 
เงินทดแทน
 
พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ เริ่มใช้เมื่อไหร่ 

          พ.ร.บ.เงินทดแทน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป  

พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ ใครมีสิทธินี้บ้าง 
 
          กฏหมายกองทุนเงินทดแทนฉบับนี้ จะคุ้มครองลูกจ้างในองค์กร ดังต่อไปนี้
          1. ลูกจ้างในองค์กรเอกชน 
          2. ลูกจ้างราชการ (ไม่รวมข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ)  
          3. ลูกจ้างในองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ 
          4. ลูกจ้างที่ได้รับการจ้างงานในต่างประเทศ (Local staff) ของสถานเอกอัครราชทูตและองค์กรระหว่างประเทศ 
 
 ประกันสังคม

วิธีใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน 

          การแจ้งรับเงินทดแทน ให้นายจ้างยื่นแบบ กท.16 (ดาวน์โหลด) ณ สำนักงานประกันสังคม หรือส่งทางไปรษณีย์ภายใน 15 วันนับจากวันที่ทราบการเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย  
          นอกจากนี้ ลูกจ้างจะยื่นด้วยตัวเองก็ได้ ผ่านแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01) (ดาวน์โหลดภายใน 180 วัน ส่วนถ้าการเจ็บป่วยเกิดหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย 
          กองทุนเงินทดแทน ถือว่าเป็นอีกสิทธิประโยชน์ดี ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือลูกจ้างทั้งรัฐและเอกชน และสำหรับใครที่ต้องการทราบรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานประกันสังคม โทร. 1506   


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

วิธีทำผักเหมียงผัดไข่
ร้านเด็ด หรอยจังฮู้...ที่ภูเก็ต

Leave a Comment