รูปแบบ Smart Classroom

Smart Classroom มีหลายรูปแบบหรือหลายลักษณะ และมีชื่อเรียกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และบริบทของสถานศึกษานั้น สุรศักดิ์ ปาเฮ นักการศึกษาของไทยอธิบายไว้อย่างน่าสนใจถึงแบบจำลองของ Smart Classroom ในแง่มุมของอาคารสถานที่ว่ามีจุดมุ่งหมายทั่วไป 10 ประการ คือ 1) มีความเพียงพอ (Adequate) 2) มีความเหมาะสม (Suitability) 3) มีความปลอดภัย (Safety) 4) มีสุขลักษณะ (Healthfulness) 5) ระยะทางติดต่อและใช้สอย (Accessibility) 6) มีความยืดหยุ่น (Flexibility) 7) มีประสิทธิภาพ (Efficiency) 8) มีความประหยัด (Economy) 9) สามารถขยับขยายได้ (Expansibility) และ 10) มีรูปร่างสวยงาม (Appearance)

นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีใกล้ตัวอย่างสมาร์ทโฟนมาช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบหนึ่งของ Smart Classroom ดังเช่นในประเทศอินเดียที่มีการนำสมาร์ทโฟนมาช่วยบูรณาการ เพื่อจัดการห้องเรียน เนื่องจากเห็นว่ารูปแบบห้องเรียนเดิมนั้นผู้สอนมักจะไม่อนุญาตให้ผู้เรียนใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนของตนเองในระหว่างที่มีการเรียน เพราะผู้เรียนอาจนำมาเล่นเกม รับส่งข้อความกับผู้อื่น หรือใช้แอพลิเคชั่นอื่นๆ รวมทั้งเมื่อมีสายเรียกเข้าหรือเครื่องสั่นจากการใช้งานสมาร์ทโฟนก็จะทำให้เกิดการรบกวนตัวผู้เรียนและคนรอบข้าง ทำให้สมาร์ทโฟนไร้ประโยชน์ทันที จึงมีแนวคิดที่จะให้ผู้เรียนทุกคนได้ใช้สมาร์ทโฟนของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบรรจุโปรแกรมที่ช่วยจัดการห้องเรียน เช่น บันทึกการเข้าเรียน กำหนดการใช้งานโทรศัพท์เมื่ออยู่ในโรงเรียน

การนำ Smart Phone มาใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้

            จากยุทธศาสตร์ชาติภายใต้โมเดลชื่อ ไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โมเดลนี้ต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมนั่นคือ การศึกษาของคนในชาติ ที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพคน และความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งการศึกษาในยุค 4.0 ผู้เรียนต้องเป็นผู้สร้างแนวคิด เรียนรู้ แก้ปัญหา หรือสร้างนวัตกรรมผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน ค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ด้วยตนเอง โดยผู้สอนต้องทำหน้าเพียงผู้ให้คำปรึกษา เสริมสร้างความรู้ สร้างแนวคิด และจะต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ให้ตนเองมีความรู้ความสามารถในการออกแบบหรือเป็นผู้จัดการภายในห้องเรียน ทั้งจัดสภาพแวดล้อม จัดหาอุปกรณ์ที่จะมาสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งผู้สอนต้องปรับแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ให้มีมากกว่าในตำรา หรือหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ได้

            ทั้งนี้ Smart Classroom ซึ่งเป็นรูปแบบห้องเรียนที่ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือที่สามารถจัดหามาได้ และมีประโยชน์ต่อการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ มีทั้งรูปแบบของห้องเรียนในอาคารเรียนปกติที่ผู้เรียนและผู้สอนสื่อสารกันโดยตรง (face to face) หรือรูปแบบห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) ที่เป็นพื้นที่ให้ผู้เรียนสามารถสนทนา แลกเปลี่ยน ถามตอบกับผู้สอนได้ทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว สามารถแบ่งปัน (share) ข้อมูลกับผู้อื่นได้ทุกเวลา ภายในห้องเรียนจะให้ความสำคัญกับส่วนหลักๆ คือ ผู้สอน ผู้เรียน และสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่มีสื่อเป็นองค์ประกอบ แต่ไม่ว่าลักษณะของ Smart Classroom จะเป็นรูปแบบใดจุดเน้นสำคัญคือกระบวนการจัดการเรียนรู้ของผู้สอนที่จะต้องสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เหมาะต่อการเรียนรู้  เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีบทบาทมากขึ้น ได้เรียนรู้ตามความต้องการหรือความสนใจของตนเองผ่านการทำกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การร่วมมือกันทำงาน คิดเป็น แก้ปัญหาเองเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ และเสริมสร้างประสบการณ์ด้วยตนเอง กล่าวคือ ในยุค 4.0 นี้ควรจะให้ความสำคัญกับการจัดการห้องเรียนหรือการจัดการเรียนรู้ที่เน้นประสิทธิผลของผู้เรียน โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยเสริมแรง สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงตัวผู้เรียนให้ได้มากที่สุด เนื่องจากผู้เรียนยุคใหม่มักใช้ชีวิตอยู่กับโลกของสังคมที่เป็นแบบออนไลน์มากขึ้น มีการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต โน้ดบุ๊ก หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ผู้สอนต้องรู้จักบริหารจัดการอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้วย

อ้างอิง

Smart Classroom: ห้องเรียนในยุค 4.0 ตอนที่ 2

คีย์ลัด WordPress
KineMaster แอปตัดต่อวิดีโอสุดง่ายสำหรับ Android ลูกเล่นครบทั้งภาพและเสียง แถมโหลดฟรี

Leave a Comment