ในช่วงสัปดาห์นี้ การคิดหัวข้อผลงานเชิงพัฒนา อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ท่านกังวลใจ เนื่องจากไม่มั่นใจว่างานที่คิดนั้นเป็นอย่างไร ใช้ได้หรือไม่ จูนจึงอยากจะขอแชร์แนวทาง เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการคิดหัวข้อดังนี้นะคะ
โดยทั่วไปนั้น งานเชิงพัฒนาควรจะมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- ลดขั้นตอนการทำงาน
- เพื่อประสิทธิภาพและ/หรือ ประสิทธิผลในการทำงาน
- แก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง (Pain Point) ในองค์กร
- วิเคราะห์ วิจัย เพื่อตอบปัญหาใดปัญหาหนึ่งสำหรับโอกาสในการพัฒนาองค์กร
- การปรับปรุงงานให้เป็นมาตรฐาน (องค์กรที่ดีใช้วิธีการแบบนี้)
- เป็นงานคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มโอกาสในช่องทางใหม่ๆขององค์กร
- ไม่จำเป็นต้องให้ผลดีในงานของเราเพียงอย่างเดียว สามารถจะใช้ทักษะของเราเพื่องานของบุคลากรท่านอื่นในวิทยาเขตก็ได้
- หัวข้อที่คิดจำเป็นต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ วข.กำหนด
อีกคำถามยอดฮิตคือ หัวข้อต้องใหญ่แค่ไหน ทำยากง่ายแค่ไหน จึงจะพอดี
คำตอบคือ ในกระบวนการที่สร้างนั้นถูกผลักภาระของการตัดสินใจใว้ที่กรรมการในแต่ละกลุ่ม (เป็นผู้ตอบได้ว่าแค่ไหนจึงจะพอดี ผ่านการให้เกรด A B C อย่างมีมาตรฐาน) อย่างไรก็ตาม มีวิธีการคลาสสิกวิธีการหนึ่งที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานของการคิดได้ คือวิธีการคำนวนเปอร์เซ็น (%) เปรียบเทียบกับระยะเวลาทำงาน แนวคิดคือ เกณฑ์กำหนดให้ผลงานเชิงพัฒนามีค่า 10% (ของ TOR 80 คะแนน นั่นเท่ากับว่า ใน 100 คะแนน คะแนนของส่วนงานเชิงพัฒนามีค่า 8 คะแนน (หรือ 8%) หากคิดในด้านระยะเวลาการทำงาน ใน 1 ปีมี 52 สัปดาห์ แต่ละสัปดาห์มี 5 วัน มีวันหยุดอีกประมาณ 11 วัน คิดในทางระยะเวลาของการทำงานเท่ากับในปีหน้า เราจะต้องมาทำงาน (หากไม่ลา) เป็นจำนวน = (52 x 5)-11 = 249 วัน ดังนั้นในแง่ของวันทำงาน 8% ของ 249 วันจึงเท่ากับ 19.92 วัน ซึ่งแน่นอนว่าหลายท่านพอเห็นตัวเลข 19.92 วันแล้วคงจะตกใจ เนื่องจากมีภาระงานประจำมาก หากจะต้องเจียด 19.92 วันใน 1 ปีมาเพื่อทำงานเชิงพัฒนา แล้วจะทำงานทันได้อย่างไร คำตอบก็คือ นั่นคือเหตุผลที่องค์กร ต้องการให้ท่านลดขั้นตอนการทำงาน(ประจำ) หรือเพิ่มประสิทธิภาพในงาน(ประจำ) หรือแก้ปัญหาในงาน(ประจำ) โดยไม่เกี่ยงว่าเราจะทำผลงานเชิงพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาให้เราเอง หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่นในองค์กร เพื่อทำให้เวลาสำหรับงานประจำนั้นลดลง / กลับมาที่ตัวเลข 19.92 ซึ่งจูนจะใช้คำว่า เป็นตัวเลขจำนวนวันสูงสุด (Maximum) ที่ควรจะเป็น สำหรับการให้เวลาในงานเชิงพัฒนา เนื่องจากองค์กรขับเคลื่อนได้ด้วยงานประจำ จึงให้ความสำคัญมากกว่าไปที่งานประจำ (ซึ่งจำนวนวันดังกล่าวนั้นรวมขั้นตอนการคิด หาความรู้ หาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการลองผิดลองถูกด้วย) บางท่านอาจจะทำงานเร็วทำให้เวลาที่ใช้ลดลง ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ นอกเหนือจากเวลาที่ใช้ในการทำงาน (เชิงปริมาณ) แล้วความซับซ้อนของกระบวนการที่ทำ (ยาก/ง่าย) (เชิงคุณภาพ) ก็เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา คอนเซปต์คือถ้าทำงานยากๆ ที่ต้องใช้ทักษะสูง ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นงานชิ้นใหญ่ๆ หรือมีปริมาณมาก แต่ในขณะเดียวกันถ้าใครเลือกหัวข้อเชิงพัฒนาที่ไม่ซับซ้อน ก็ต้องเอาแรงกายแรงใจ (ปริมาณ) มาแลกค่ะ
ตัวอย่างงานที่จูนได้ทดลองคิด และลองเสนอให้ฝ่ายบัญชีและการเงินพิจารณาเลือก (หากสนใจ) มีดังนี้ค่ะ
- วิเคราะห์มาตรฐานการให้บริการ (Service Level Agreement, SLA) ของงานที่สำคัญในฝ่าย / เริ่มบันทึกสถิติสำหรับบางรายการ เพื่อวิเคราะห์
- Pilot Study – การลดข้อผิดพลาดของเอกสารที่ส่งมาจากคณะฯ /หน่วยงาน
- KM Project: โครงการเครือข่ายนักบัญชี / การเงิน ม.อ.ภูเก็ต เพื่อสื่อสาร ระเบียบใหม่ๆ / สิ่งที่ควรทราบ
- วิเคราะห์แนวทางการบริหารกระแสเงินสด / เงินสะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
- พัฒนาแบบฟอร์มออนไลน์ 3 ภาษาต่างๆ (ไทย อังกฤษ จีน) สำหรับนักศึกษา และบุคลากร (ต้องเสนอจำนวน / รายการต่อกรรมการ)
- วิเคราะห์ต้นทุนการบริหารจัดการแบบกึ่งรวมศูนย์ (ม.อ.ภูเก็ต) (ร่วมกับแผนฯ)
- วิเคราะห์รายการสถิติที่สำคัญในงานบัญชีและการเงินสำหรับฝ่ายบริหาร เพื่อประกอบการตัดสินใจ
- วิเคราะห์ภาระงาน ด้วยระบบ Manhours หรือ ระบบ Load Unit ของบุคลากรฝ่ายบัญชี / การเงิน เพื่อการหมุนเวียนงาน (Job Rotation)
- การวัด / วิเคราะห์ ทักษะที่สำคัญสำหรับบุคลากรในฝ่ายบัญชีการเงิน เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรในงาน (แผนระยะสั้น 1 ปี / แผนระยะกลาง 3 ปี)
- วิเคราะห์แนวทางในการการวัด วิเคราะห์ ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินของวิทยาเขตประเภทอาคาร / สิ่งก่อสร้าง เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการตั้งงบประมาณในการบำรุงรักษา (ร่วมกับแผนและอาคาร)
- การปรับปรุงการเก็บเอกสารสำคัญจากกระดาษเป็นรูปแบบไฟล์เพื่อความสะดวกในการสืบค้น (เช่นสัญญา? หรืออื่นๆ)
- การถ่ายทอดความรู้ / ให้คำปรึกษา / ตรวจสอบ – ทักษะ “การจัดทำงบการเงิน” ที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรในงานบริหารทรัพย์สิน (ทำให้ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน)
- การคำนวณมูลค่า (Valuation Validation) ของสินทรัพย์ห้องสมุด ในมุมมองของการลงทุน เพื่อปรับรูปแบบเป็น Co-working Space (ร่วมกับห้องสมุด)
- Best Practice การนำกฏของพาเรโต (Pareto Principle) มาประยุกต์ใช้เพื่อลดภาระงานในฝ่ายบัญชี การเงิน
- วิเคราะห์แนวทางในการลดขั้นตอนการทำงาน (Lean Process) ทดลองดำเนินการ และวิเคราะห์ผลที่ได้รับ
บทความนี้นี้เป็นการแชร์แนวคิด เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านได้ทดลองทำงานที่เป็นงานเชิงพัฒนาที่สร้างสรรค์ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ
เยี่ยมเลยครับ ^-^