งาน Wunca รอบที่ 38 จัดขึ้นที่ ม.ราชภัฏภูเก็ต ระหว่างวันที่ 23 – 25 มค 2562 จึงถือโอกาสไปร่วมงานเพื่อไปรับรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง

ประเด็นหลักที่มีการจัดบรรยาย และ workshop ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เครือข่ายและความปลอดภัย MOOC การพัฒนางานห้องสมุด IoT ข้อมูลขนาดใหญ่ (ฺBig Data) และ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) สามารถดูหัวข้อต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์งาน Wunca38th
https://wunca.uni.net.th/wunca38/

ประเด็นด้านเครือข่าย และความปลอดภัย
UniNet หน่วยงานที่ดูแลโครงข่ายของมหวิทยาลัยฯ ต่างๆ ได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเพิ่มเติมไปยังประเทศสิงค์โปร์ ญีปุ่น และประเทศอะไรอีกแห่งในยุโรป การดำเนินการนี้จะทำให้การสื่อสารข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการแก้ไขและปรับปรุงเครือข่ายภายในประเทศอีกด้วย
ในด้านความปลอดภัย จะกล่าวถึง กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานไอทีเป็นหลัก นอกจาก พรบ คอมฯ ที่ประกาศใช้งานไปแล้วนั้น ตอนนี้ก็มีการจัดทำร่าง พรบ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายตัว โดยมีการยกตัวอย่าง ร่าง พรบ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่จะกำหนดหน้าที่ของผู้บริหารถึงระดับปฎิบัติการ การเทียบร่าง พรบ กับ กฎ GDPR ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองคนจากยุโรป ผู้บรรยายยังกล่าวถึง พรบ ข้อมูลข่าวสารของราชการ พศ. 2540 ซึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ ระเบียบว่าด้วยความลับทางราชการ พศ.2544 ที่ว่าด้วยระดับชั้นความลับ ถึงแม้จะเป็นกฎเก่าแต่สามารถใช้บังคับกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนไซเบอร์ได้ ผู้ทำงานด้านไอทีจึงควรศึกษาไว้บ้าง
เมื่อกล่าวถึงข้อมูลส่วนบุคคล ผู้บรรยายให้ความเห็นว่า ข้อมูลหรือชุดข้อมูลใดๆ ก็ตามที่สามารถใช้ระบุตัวตนได้ ไม่เพียงแค่ ชื่อ-สกุล รูปภาพ เท่านั้น ที่อยู่บนเครือข่าย หรือข้อมูลคุกกี้ ก็สามารถนับเป็นข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการตีความว่า เจ้าของข้อมูล ที่มักเข้าใจผิดกันว่า ข้อมูลต่างๆ ที่เก็บอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์นั้น เป็นของงานไอที หรือ ของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของระบบ เจ้าของข้อมูล คือ คนที่เป็นข้อมูล เช่น นักศึกษา A หน่วยงานจัดเป็นผู้ควบคุมข้อมูล เช่น สำนักทะเบียน ในขณะที่ งานไอที อาจเป็นเพียงแค่ ผู้ประมวลผลข้อมูล เท่านั้น แต่ถ้างานไอทีนำข้อมูลไปประมวลเอง เพื่อทำ Dashboard หรือประมวลผล Big Data ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก หากเกิดข้อผิดพลาดหรือฟ้องร้องขึ้น ระดับชั้นความผิดจะยกจากระบบผู้ประมวลผลไปเป็นระดับผู้ควบคุมข้อมูล ซึ่งมีโทษหนักกว่า

ประเด็นด้าน Big Data และ Smart City
มีข่าวว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อดำเนินการด้าน Smart City สำหรับเมืองที่ได้ดำเนินการไปก่อนแล้วอยากให้มีการทบทวนสิ่งที่เป็นปัญหา เป็นความท้าทายของเมืองว่ามีอะไรบ้าง และจะนำไอทีเข้ามาช่วยเหลือ หรือแก้ปัญหาได้อย่างไร โดยมีการยกตัวอย่างมาที่จังหวัดภูเก็ต ว่าเศรษฐกิจภูเก็ตนั้นไม่ยั่งยืน เพราะรายได้หลักมากจากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว นั่นคือ จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตมีความยั่งยืน ถ้ามีการวางโจทย์แบบนี้ สิ่งที่ต้องทำอาจเป็น ทำยังไงให้การท่องเที่ยวมีความปลอดภัย (Smart Safety) สิ่งแวดล้อมต้องดีเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม (Smart Environment) การนำเสนอการท่องเทียวใหม่ๆ หลากหลาย (Smart Tourism) การให้บริการด้านสุขภาพ (Smart Health Care) หรืออื่นๆ เพื่อให้เมืองสามารถไปสู่ Smart City ได้นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาหลายหน่วยงาน คือ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ผู้ที่มีความรู้ มีงานวิจัยที่สามารถให้คำแนะนำกับเมืองได้ บริษัทด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่จะช่วยกันเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กลุ่ม Startup ที่จะนำความรู้งานวิจัยไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของผู้คน
เมืองที่เติมโตขึ้น เมืองที่มีการใช้ Smart Device / IoT มากขึ้น จะทำให้มีข้อมูลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก (Big Data) เช่น คุณภาพน้ำ อากาศ ความแออัด ปริมาณผู้เชื่อมต่อกับเครือข่าย เป็นต้น โจทย์ถัดไปคือ จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปก่อประโยชน์ได้อย่างไร โดยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในชั้นนี้คือ Data Science, AI, Machine Learning, ??Deep Learning??….ยังมีอะไรให้ทำมีเยอะ แต่ก็ต้องศึกษาเพิ่มอีกเพียบ
ประเด็นทิ้งท้าย คือ การรักษาความปลอดภัยบน IoT รวมถึง Cloud….ได้มีการคำนึงกันหรือยัง?

ประเด็นด้าน MOOC
เมื่อมีการกล่าวถึง Smart Education การปรับตัวด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การเพิ่มโอกาศทางการศึกษา หรือ การเรียนรู้ตลอดช่วงอายุ เรื่องของ MOOC หรือ
การเรียนการสอนในระบบเปิดสำหรับมหาชน จะถูกหยิบมาคุยกัน สำหรับประเทศไทย ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ได้มีการทำโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพื่อดำจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด (Thai-MOOC)
สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ปัจจุบันบน Thai-MOOC มีวิชาให้เลือกเรียนราว 300 วิชาในหลายสาขาวิชาชีพ นอกจากนี้ยังได้ทำความร่วมมือกับ Japan-MOOC Korea-MOOC และ Singapore-MOOC ในการพัฒนาหลักสูตรด้านการ ท่องเที่ยว และ การวิเคราะห์ข้อมูล ต่อไปจะเชื่อมโยงข้อมูลกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ที่จะสามารถออกใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพได้
สำหรับสถาบันอุดมศึกษา ได้มีการใช้ Thai-MOOC หรือ MOOC อื่นๆ เพื่อใช้ร่วมกับการเรียนการสอบเดิม เช่น การให้หน่วยกิตสำหรับการเรียนผ่าน MOOC การเทียบโอนหน่วยกิต การเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่เรียนผ่าน MOOC ได้โอกาสได้เข้าชั้นเรียนในรายวิชา การเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ขึ้นอยู่กับแนวทางในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละสถาบัน แต่สิ่งที่ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของ MOOC คือ จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนจนจบวิชาได้

ประเด็นอื่นๆ
* มีการนำ Google Assistant หรือ Line Bot มาบริการตอบคำถาม หรือให้บริการในด้านต่างๆ
* การจัดการอุปกรณ์ IoT ด้วย Blink หรือ Web of Things by Mozilla
* การใช้อุปกรณ์ CCTV, IP Camera, Finger print, Security Gate และอื่นๆ ต่างรุ่น ต่างยี่ห้อ แต่รองรับมาตรฐาน ONVIF จะช่วยให้ผู้ดูแลสามารถจัดการกับอุปกรณ์เหล่านี้ผ่าน Onvif Manager ได้
* การใช้ Opensource S/W ชื่อ Xibo ในการทำ Digital Signage

โพสนี้ก็เป็นการยำความรู้ที่ได้รับจากหลายๆ section อาจมีผิดพลาด ตกหล่นไปบ้างต้องขออภัยนะครับ

การลงทุนในกองทุน LTF เพื่อการลดหย่อนภาษี II : การลงทุน
QR Code ช่วยในการค้นหาข้อมูลสารสนเทศในห้องสมุดได้ง่ายขึ้น

Discussion

Leave a Comment